“ญาคูคำพันธ์”
“ญาคู” ผมได้ยินคำนี้มาตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ เพราะได้ไปนอนวัดกับคุณตา (ตาวินิจ พูลศิลป์) อยู่เสมอโดยเฉพาะในวันพระต้องไปแต่เช้า ไปเล่นที่วัดนอนที่วัด คุณตาผมท่าน เป็นทุกอย่างของวัด เป็นคนนำสวดมนต์ เป็นผู้นำศาสนพิธีของวัด เป็นมัคทายก เป็นคนสะพายย่าม ตามหลัง “ญาคู” ไปในงานบุญต่างบ้านต่างเมือง ผมชอบวัดเพราะมีลานกว้างให้วิ่งเล่น มีขนมผลไม้ให้กินมากมาย ผู้คนมักมาวัดทำบุญในวันพระ ผมไม่รู้ความหมายของ “ญาคู” รู้แต่ว่าเป็นพระสงฆ์อยู่ในวัด แยกไม่ออกว่าพระกับเณรต่างกันอย่างไร เห็นห่มผ้าเหลือง เด็กๆอย่างพวกเรา ก็เรียกว่า “ญาคู” ทั้งหมด
“ญาคูคำพันธ์” คือชื่อพระที่ผมรู้จักรูปแรกในวัดศรีวิชัย ท่านเป็นพระที่ใจดี มีเมตตาท่านจะให้ขนมและผลไม้กับเด็กๆ บางครั้งท่านจะให้เหรียญห้อยคอกลับบ้านแล้วนำไปอวดกัน ท่านเปรียบเป็นหัวหน้าพระทั่วไป เพราะทุกคนไม่ว่าพระหรือฆราวาส ต่างฟังคำสั่งสอนของท่าน ในการพัฒนาวัด พัฒนาหมู่บ้าน ตัดถนน ติดตั้งเสาไฟฟ้า สร้างกุฏิ ศาลา สร้างทำนบ ทำฝาย ท่านสอนให้ผมกราบพระ สอนให้ผมหัดสวดมนต์บทสั้นๆ
พออายุได้ 7-8 ขวบผมห่างวัด ในวันพระไม่ได้ไปนอนวัด เพราะต้องไปโรงเรียน วัดกับบ้านห่างกันมากในสมัยเด็ก ต้องเดินผ่านป่า ดงกล้วย บ้านคนก็อยู่ห่างกันยิ่งตะวันตกดินจะมืดทันทีไม่มีไฟฟ้า ช่วงเรียนหนังสือพวกเด็กๆ ได้ไปวัดสัปดาห์ละครั้ง คุณครูทั้งสองคน (นายดรุณ - นางอำนวย พูลศิลป์) ซึ่งเป็นป้าและลุงของผมได้นำนักเรียนไปทำกิจกรรมที่วัดทุกวันศุกร์ นักเรียนทั้ง 4 ชั้น ต่างก็ได้เข้าวัดฟังเทศน์ สวดมนต์ ฟังพระสอนธรรม พัฒนาวัด และขนหิน ขนทรายเข้าวัด นับว่าเป็นกิจกรรมที่พวกเราเด็กๆ ต่างชอบกันมาก
ผมได้รู้จัก “ญาคู” เพิ่มขึ้นอีกหลายรูปที่เป็นทั้งผู้ช่วยครู เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้เล่านิทาน เป็นหัวหน้าพัฒนาวัด ตามที่ “ญาคูคำพันธ์” มอบหมายให้ว่าใครจะทำหน้าที่อะไร “ญาคู” ที่ผมพอจำได้และสนิทสนมก็มี “ญาคูวิไล , ญาคูปาน , ญาคูสิงห์ , ญาคูธงชัย” เป็นต้น
ต่อมา “ญาคู” ที่ผมรู้จักก็หายไปจากวัด ทราบภายหลังว่าท่านเหล่านั้น ไปเรียนต่อที่อื่น แต่ไม่ทราบว่าที่ไหน จบ ป.4 ผมออกจากบ้านไปเรียนต่อที่อื่นบ้าง ถึงได้ทราบ “ญาคู” ที่ผมเคารพศรัทธานั้น ได้เป็น “มหา” กันหมดประสบผลสำเร็จในการเรียน และสำเร็จทางธรรมที่ท่านได้ไปศึกษาไขว่คว้าหา
“ญาคูวิไล” ก็คือ “มหาวิลัย อธิโก” ภายหลังท่านเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อาจารย์วิทย์ ผงพิลา เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ ท่านได้เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร
“ญาคูปาน” หรือ “มหาปาน ธรรมสาโร” อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี(ธ) อดีตเจ้าคณะภาค๘(ธ) เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเมธากร ท่านได้ละสังขารในวัย ที่กำลังเจริญก้าวหน้าท่านเคยคุยกับผมว่า คอยดูนะคนบ้านเราจะได้เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ซึ่งผมยังมองไม่เห็นใครนอกจากตัวท่าน แต่ท่านก็ด่วนละสังขารจากพวกเราไปก่อน
“ญาคูสิงห์” คือ “มหาสิงห์ อินทรปัญโญ” เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันเป็นพระราชาคณะชั้นราชเหมือนกันที่ “พระราชวราลังการ” หรือพระรูปนี้จะเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในอนาคต
“ญาคูธงชัย” “มหาธงชัย อมโร” เป็นพระหนุ่มที่มีโอกาสเดินทางไปเรียนต่อนักธรรม คนแรกของหมู่บ้านที่กรุงเทพมหานคร และได้รับราชการเป็นครูที่กรุงเทพ จนเกษียณอายุราชการ
“ญาคูคำพันธ์” ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกจากเด็กๆอย่างพวกเราเมื่อไรไม่มีใครจำได้ แต่เราพากันเรียก “ญาคูคำพันธ์” ว่า “พ่อครู” ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า “พระครู”
“พ่อครูคำพันธ์” พาพวกเราทำบุญตักบาตรปีใหม่ และวันสงกรานต์บริเวณ วัดพระเนาว์ (วัดบ้าน)ประจำทุกปี ในวันปีใหม่ชาวบ้านจะแต่งตัวสวยๆ ลงมาใส่บาตร ผู้คนแปลกหน้าจากทางไกล จากต่างจังหวัด จากกรุงเทพ จากในเมืองจะเห็นเป็นประจำทุกปี ใส่บาตรเสร็จ “พระครู”จะเทศน์ใส่เครื่องขยายเสียง ที่ชาวบ้านติดตั้งไว้คบงันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตั้งแต่ตอนกลางคืน ท่านจะพูดถึงการพัฒนาหมู่บ้าน ว่าปีนี้จะทำอะไรบ้าง พูดเรื่องความสามัคคี ความร่วมมือ ร่วมใจ ในการทำงาน ความรักต่อชุมชน ต่อญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้รับทราบ ถือปฏิบัติกันทุกครัวเรือน ท่านให้โอวาท ท่านให้พรปีใหม่ ให้ทุกคนประกอบแต่คุณงามความดี รักกันพึ่งพากันและอวยพรให้บารมีของ “พระเนาว์” คุ้มครองทุกคน ข้าวปลาอาหาร ที่ใส่บาตร ท่านจะตักใส่บาตรของท่านแต่พอฉัน ท่านฉันอาหารมื้อเดียวมาตลอด ท่านตักเสร็จจะเคลื่อนอาหารให้ พระรูปอื่น ก็ตักอาหารใส่บาตรเหมือนท่าน แล้วแจกจ่ายให้ญาติโยมไปแบ่งกันกินเป็นครอบครัว เป็นเครือญาตินั่งกินกันเป็นวงๆ ห้อมล้อมกันตามใต้ตันไม้บ้าง ตามสนามหญ้าบ้าง อันเป็นภาพที่ผม ได้เห็นและได้ทำกันมาทุกปี กินข้าวเสร็จปีไหนไม่มีกิจนิมนต์ที่อื่น “พ่อครู” จะพาชาวบ้านพัฒนาหมู่บ้าน ถางหญ้าถนนภายในบริเวณวัดพระเนาว์ ถนนตามหมู่บ้านให้สะอาดสวยงามแล้วค่อยแยกย้ายกันไปทำความสะอาดครอบครัวของตนเอง
วันสงกรานต์ จะจัดงานหลายวัน วันที่ 11 , 12 เมษายน จะเป็นวันเนา ชาวบ้านทุกครอบครัวจะร่วมกันจัดตกแต่งบริเวณงานอัญเชิญพระพุทธรูป และพระเนาว์ มาประดิษฐานไว้นอกสิม เพื่อให้คนมาทำบุญถวายผ้าไตรและสรงน้ำ เช้าวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่หมู่บ้านในตำบลสามผง และตำบลใกล้เคียง ต่างมาร่วมทำบุญตักบาตรจนล้นบริเวณ วัดพระเนาว์ คนแปลกหน้าจะเพิ่มจากปีใหม่ เป็นสองเท่า เพราะไม่เพียงแต่ลูกหลานที่ไปทำงาน ในต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ จะมีสะใภ้ ลูกเขยของแต่ละครอบครัวมาเพิ่มจำนวนให้คนมากขึ้น ผมไม่รู้จักคำว่า สงกรานต์ เมื่อตอนเด็กรู้แต่เพียงว่าเดือนเมษายนปิดโรงเรียน จะได้เอาบุญสรงน้ำพระเนาว์ ได้สอยดาว ได้ใส่บาตรสวรรค์ ได้ฟังเสียงเพลงเสียงลำจากเครื่องขยายเสียงได้ดูหนังกลางแปลง บางปีพระลูกศิษย์ที่ไปเรียนกรุงเทพฯ จะรวบรวมลูกหลานที่ไปทำงานกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นำผ้าป่ามาถวายวัดเป็นผ้าป่าสามัคคีต่างชักชวนเอาเพื่อนๆในที่ทำงานมาสรงน้ำพระเนาว์ และทำบุญผ้าป่าด้วย
ในระยะหลังๆ มาคนศรีเวินชัยที่อยู่กรุงเทพและต่างจังหวัด มีภารกิจในรอบปีที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คืองานลูกพระเนาว์คืนถิ่น ในงานคืนสู่เหย้าชาวศรีเวินชัย ตรงกับคืนวันที่ 12 เมษายน และ 13 เมษายน ของทุกปีทุกคนได้มาทำบุญตักบาตร ได้มากราบขอพรพระเนาว์ ขอพรพ่อครู หรือพระครูที่พวกเราเคารพ ขอพรพ่อแม่และไปกินข้าวป่า แล้วค่อยแยกย้ายกันไปทำมากินสู้ชีวิตต่อไป
บ้านศรีเวินชัย ในวันนี้อยู่กันมาได้ด้วยความร่มเย็น เพราะเรามีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มีพระเนาว์ที่เราทั้งหลายได้กราบไหว้ขอพร และบนบาน มี พ่อครู หรือ พระครูอดุลยธรรมภาณ ที่ควรแก่การสักการะกราบไหว้ ได้นำพาพร่ำสอน ให้ลูกหลานรักสามัคคีกัน เอื้ออาทร สำนึกรักในบ้านเกิด ยึดมั่นคุณความดี ทำให้ศรีเวินชัยในวันนี้ เป็นที่แพร่หลาย เป็นที่รู้จักของ คนทั่วไป เรามีปราชญ์ทางจิตวิญญาณที่รู้ลึกในแก่นธรรม เรามีอริยสงฆ์ที่ทรงคุณค่าที่มีคุณูประการต่อแผ่นดิน เรามีพระที่เหนือพระ เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญ แห่งลุ่มน้ำสงครามที่ควรแก่การบูชา “ญาคูคำพันธ์ หรือ พ่อครูคำพันธ์ พระครูอดุลธรรมภาร หรือ ท่านเจ้าคุณจันโทปมาจารย์” สิ้นแล้ว ท่านได้ละสังขาร ได้ละกิเลสทั้งมวล เหลือไว้แต่ความทรงจำอันบริสุทธิ์ที่ตราตรึงเราลูกหลาน และชาวพุทธทั้งมวลไปชั่วนิจนิรันดร์ ขอดวงวิญญาณท่านสู่นิพพาน ท่านได้สละร่างกาย ชีวิต อุทิศให้พระพุทธศาสนา ท่านได้วางกฎเกณฑ์ของชีวิตไว้ให้ชนรุ่นเรา ได้ยึดมั่นเป็น อุทาหรณ์สอนใจ ท้ายที่สุดไม่มีใครสามารถจะหยุดรั้งเอาไว้ได้ มีแต่คุณงามความดี เดชอำนาจบารมีที่ได้สร้างสมไว้เท่านั้น ที่จะปรากฏในปัจจุบันและอนาคต พวกเราลูกหลานชาวศรีเวินชัย ชาวพุทธทั่วไปขออ้างเอาคุณงามความดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล บารมีของ องค์สมเด็จพุทธพระเนาว์ หนุนนำจิตวิญญาณของท่านสู่สัมปลายภพในสรวงสวรรค์ และขอประกอบแต่คุณงามความดีให้สมกับท่านที่ได้อบรมสั่งสอนมาไว้ในดวงจิตมิรู้ลืม
กราบคารวะ
อารมณ์ เวียงด้าน (ครูไก่)
ในนามตัวแทนลูกหลานชาวบ้านศรีเวินชัย
10 มีนาคม 2555